WELLNESS

SURGERY

เส้นเอ็นข้อศอกอักเสบ

เส้นเอ็นข้อศอกอักเสบ

 เอ็นข้อศอกอักเสบ (Lateral epicondylitis, Tennis elbow) คือ อาการปวดบริเวณเส้นเอ็นที่ข้อศอกด้านนอก มีสาเหตุมาจากการใช้งานหนักเกินไปของข้อมือ แขนส่วนปลาย และข้อศอก ส่วนใหญ่จะเกิดจากการใช้งานซ้ำๆ มาเป็นเวลานาน

อาการของเอ็นข้อศอกอักเสบ

1.ปวดบริเวณศอกด้านนอก

2.ปวดร้าวลงแขนหรือลงข้อมือ

3.ปวดจนอ่อนแรง ขยับข้อมือ ศอก แขนส่วนปลาย และบางครั้งกำมือก็อ่อนแรง

4.กำของแน่นไม่ได้

5.ขยับศอกได้ลดลง

6.รบกวนการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น จับของ ยกของ หมุนลูกบิดประตู ยกแก้วกาแฟ

เอ็นข้อศอกอักเสบเกิดจากอะไร

เกิดจากการใช้งานข้อศอกหนักเกินไปครับ แต่ไม่ได้หมายถึงการยกของหนักๆ หรืออุบัติเหตุหนักๆแต่ใช้งานหนักหมายถึงการใช้งานซ้ำๆกันวันละหลายๆครั้ง ทุกๆวัน ต่อเนื่องกันมานานๆ เป็นเดือนๆ ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่ต้องเกร็งและขยับข้อมือหรือแขนส่วนปลายซ้ำกันต่อเนื่อง ทำให้เส้นเอ็นที่ควบคุมการทำงานนี้บาดเจ็บ และเกิดการบาดเจ็บสะสมต่อเนื่องยาวนาน

กิจกรรมที่พบทำให้เกิดเอ็นข้อศอกอักเสบได้บ่อย :

1.นักกีฬาที่จับไม้ลักษณะเป็นด้าม เช่นนักเทนนิส นักแบตมินตัน

2.คนที่ต้องนั่งพิมพ์งานหรือกดเมาส์นานๆ

3.พนักงานขับรถที่จับพวงมาลัยต่อเนื่อง

4.ช่างซ่อมต่างๆที่จับอุปกรณ์ที่เป็นด้ามเช่นไขควง

5.แม่ครัว จับด้ามกระทะ ตะหลิว

6.แม่บ้าน จับไม้กวาด ไม้ถูพื้น

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเอ็นข้อศอกอักเสบได้ง่าย

1.อายุ 30-50 ปี เป็นวัยที่ทำงานหนัก ต่อเนื่องนานๆ จนมีการบาดเจ็บได้ง่าย

2.อาชีพ ที่ต้องใช้แขนซ้ำๆ โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีด้ามในการทำงาน

3.กีฬาที่ใช้อุปกรณ์ลักษณะเป็นด้ามในการเล่น และนักกีฬาที่ท่าทางการเล่นไม่ถูกต้องหรือไม่มีโค้ชมาคอยให้คำแนะนำ

วิธีรักษาเอ็นข้อศอกอักเสบ

โดยปกติแล้วเอ็นข้อศอกอักเสบจะหายเองได้ครับ โดยการพัก ลดการใช้งาน ทานยาที่ซื้อจากร้านขายยาเช่นยาแก้อักเสบ หรือยาแก้ปวด (ปรึกษาคุณเภสัชกรก่อนนะครับ) แต่ถ้ายังไม่ทุเลาหรือเป็นเรื้อรัง มีคำแนะนำดังนี้

ลดปวด ปรับพฤติกรรม

1.พัก ลดการใช้งาน

2.ถ้าเป็นนักกีฬาที่ต้องใช้อุปกรณ์ลักษณะเป็นด้าม เช่นไม้เทนนิส ไม้แบตมินตัน แนะนำให้ลองปรึกษาโค้ช หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้มาปรับท่าทางการเล่น

การใช้ยาคุมการอักเสบ

1. ใช้ยาแก้ปวด ร่วมกับยาแก้อักเสบ (ปรึกษาคุณเภสัชกรก่อนนะครับ)

2. ใช้ครีมที่มีส่วนผสมของยาแก้อักเสบ

เอ็นข้อศอกอักเสบ ประคบร้อนหรือเย็น

1.ถ้ามีอาการปวดอักเสบขึ้นมาหลังจากไปใช้งาน แนะนำให้ประคบเย็นครับ ครั้งละ 20-30 นาทีวันละ 2-3 ครั้ง

2. ถ้าเป็นแบบเรื้อรัง ไม่ได้ไปใช้งานมาหนัก แนะนำประคบอุ่นจะช่วยให้เอ็นผ่อนคลาย และกายภาพได้ดีขึ้นครับ

การใช้อุปกรณ์ประคองกล้ามเนื้อบริเวณศอก (tennis elbow support)

ขณะที่เราใช้งาน เอ็นบริเวณข้อศอกจะรับภาระน้อยลง และตึงน้อยลงด้วย

เทคนิคการใช้งาน

1.รัดให้ส่วนที่เป็นคล้ายๆหมอน อยู่ปลายต่อจุดที่เจ็บประมาณ 1-2 นิ้ว

2.ห้ามรัดบริเวณที่เจ็บ เนื่องจากจะทำให้เจ็บมากขึ้น

3.รัดให้แน่นๆหน่อยนะครับ อุปกรณ์จะได้ทำหน้าที่เป็นจุดเกาะเอ็นเทียมได้อย่างดี ขณะใช้งานเช่นเล่นกีฬาหรือทำงาน ให้รัดแน่นๆ พอพัก หรือไม่ได้ใช้งาน ค่อยคลายออกได้

ใช้คลื่นกระแทกรักษาเอ็นข้อศอกอักเสบ (shockwave therapy)

   เครื่องยิงคลื่นกระแทกหรือช็อคเวฟเป็นอุปกรณ์ทางกายภาพบำบัดชนิดหนึ่งนะครับ จะยิงคลื่นกระแทกเข้าไปรักษาส่วนที่เป็นเอ็นที่มีอาการอักเสบเรื้อรัง ช่วยให้เกิดการอักเสบชนิดดีเกิดขึ้น และทำให้หายจากการอักเสบเรื้อรังได้

เอ็นข้อศอกอักเสบ สามารถรักษาด้วยคลื่นช็อคเวฟได้เป็นอย่างดีเลยครับ ช่วยให้ลดอาการปวด เพิ่มการทำงานของข้อมือและข้อศอกได้ดี รวมถึงหายเร็วกว่าการรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดอย่างเดียวด้วย

การฉีดยาสเตียรอยด์

ในปัจจุบันการฉีดยาสเตียรอย์เพื่อรักษาเอ็นข้อศอกอักเสบเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันเนื่องจากช่วยลดการอักเสบได้ดี และอาการปวดลดลงอย่างรวดเร็ว

เนื่องจากเอ็นข้อศอกอักเสบ มีสาเหตุ(หลัก)มาจากการบาดเจ็บเรื้อรัง ส่วนการอักเสบซึ่งรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เป็นสาเหตุรอง

นอกจากนั้นการฉีดยาสเตียรอยด์บริเวณข้อศอกอาจทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ถ้าฉีดอย่างไม่ระมัดระวัง หรือฉีดบ่อยเกินไป เช่นอาจเกิดภาวะเอ็นฉีกขาด การติดเชื้อ หรือสเตียรอยด์ทำให้ผิวหนังเกิดด่างขาวได้

แนะนำว่า ไม่ควรฉีดยาสเตียรอยด์ในโรคเอ็นข้อศอกอักเสบครับ นอกจากจะมีอาการปวดเป็นอย่างมาก รบกวนการใช้งานในชีวิต และถ้าจำเป็นจริงๆ ให้ฉีดได้ 1-2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 3 เดือนขึ้นไป

รีวิวผลลัพธ์จากการแก้อาการเส้นเอ็นข้อศอกอักเสบ

กล้ามเนื้ออักเสบบริเวณข้อศอก

โรคเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ

โรคเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณข้อศอกที่รู้จักกันดี มีชื่อเรียกโดยเฉพาะ ได้แก่ โรคข้อศอกเทนนิส หรือ Tennis Elbow และโรคข้อศอกนักกอล์ฟ หรือ Golfer’s Elbow เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้ข้อมือและข้อศอกมาก หรือในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานหนักหรืองานเบา แต่มีการใช้มือเกร็งในท่าซ้ำ ๆ และมีการกระดกข้อมือและเหยียดศอกอยู่เสมอ เช่น การปัดกวาด เช็ดถู การทาสี การตีกลอง การทำผม การใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ตลอดจนการเล่นกีฬาต่าง ๆ โดยเฉพาะกอล์ฟและเทนนิส

สาเหตุเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ

สาเหตุที่สำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดโรคเอ็นอักเสบ คือ ภยันตรายต่อเอ็นกล้ามเนื้อ โดยแรงตึงหรือการสะบัด หรือการใช้งานซ้ำ ๆ มากเกินไป  (Overuse Injury) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเอ็นกล้ามเนื้อที่เกาะบริเวณข้อศอกที่มีการบาดเจ็บระดับเซลล์ หรือถ้ารุนแรงมากก็อาจมีการฉีกขาดของเอ็นกล้ามเนื้อขึ้นได้  แต่ทั้งนี้อาจพบว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ก็ได้ 

อาการเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ

อาการเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดบริเวณปุ่มกระดูกข้อศอกตรงเอ็นกล้ามเนื้อที่เกิดการอักเสบ โดยเฉพาะเวลาเกร็งกล้ามเนื้อในการกระดกขื้อมือขึ้นหรือลง และมีจุดกดเจ็บในตำแหน่งเดียวกัน เวลาเกร็งกล้ามเนื้อกระดกข้อมือขึ้นหรือลง สู้กับแรงต้านจะมีอาการปวดมากขึ้น ความรุนแรงของโรคก็แตกต่างกันไป อาจปวดเพียงเล็กน้อย หรือปวดมากจนไม่สามารถใช้แขนได้

โรคข้อศอกเทนนิส (Tennis Elbow)

โรคข้อศอกเทนนิส (Tennis Elbow) จะปวดบริเวณข้อศอกด้านนอกเวลาขยับหมุนข้อศอก เวลาสะบัดข้อมือขึ้นแรง ๆ หรือเวลากำสิ่งของในมือ เช่น ลักษณะของการตีลูกเทนนิสแบ็กแฮนด์ เนื่องจากมีการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณปุ่มข้อศอกด้านนอก

อาการเจ็บบริเวณข้อศอกด้านนอก

อาการเจ็บบริเวณข้อศอกด้านนอก พบในนักเทนนิสที่ตีแบคแฮนด์สะบัดข้อมือแรงๆและในนักกอล์ฟที่วงสวิงยังไม่ ค่อยถูกต้องนัก ตีโดนพื้นหรือซ้อมมากเกินไป มักจะเกิดการบาดเจ็บได้บ่อยในกรณีที่ไม่มีการวอร์มอัพ หรือบริหารยืดเหยียดเอ็นกล้ามเนื้อให้พร้อมก่อนที่จะซ้อมหรือออกรอบ การที่ เกิดการบาดเจ็บหรือการอักเสบที่ข้อศอกด้านนอกพบบ่อยกว่าด้านใน  เนื่องจากกล้ามเนื้อด้านหลังแขนท่อนล่างที่ใช้ในการกระดกข้อมือและเหยียด นิ้วมือมีต้นกำเนิดเป็นเอ็นกล้ามเนื้อที่เกาะรวมกันที่ปุ่มกระดูกข้อศอกด้าน นอก  กล้ามเนื้อกลุ่มนี้ในคนส่วนใหญ่มักจะไม่แข็งแรงมากนัก  และมีการยืดเหยียดได้น้อย ในการเล่นกอล์ฟหรือเทนนิสจึงจำเป็นต้องฝึกกล้าม เนื้อให้แข็งแรงและมีการยืดเหยียดที่ดี  ซึ่งจะสามารถเร่งความเร็วหัวไม้ได้

โรคข้อศอกนักกอล์ฟ (Golfer’s Elbow)

โรคข้อศอกนักกอล์ฟ (Golfer’s Elbow) จะปวดบริเวณข้อศอกด้านในเวลาบิดศอกเข้าด้านในและกระดกข้อมือลง เช่น ลักษณะของการสวิงกอล์ฟแรง ๆ เนื่องจากมีการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณปุ่มข้อศอกด้านใน

อาการเจ็บบริเวณข้อศอกด้านใน มักพบในนักกอล์ฟที่ตีเก่งแล้ว ตีได้ไกล เนื่องจากไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องวงสวิง แต่ปัญหาเกิดจากการใช้กล้ามเนื้อมากเกินหรือบ่อยเกิน พบบ่อยบริเวณข้อศอกขวาด้านใน (ในนักกอล์ฟมือขวา)

รักษาเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ

หลังจากการเล่นหรือการใช้งานแล้ว ถ้ามีอาการปวดมากขึ้นมาทันที ควรใช้หลักการรักษาด้วยการพัก (Rest) ใช้ความเย็นประคบ (Ice) ใช้ผ้ายืดพันป้องกันไม่ให้บวม (Compression) และวางข้อศอกสูงเวลานั่งหรือนอนโดยใช้หมอนรอง (Elevation) หลังจากผ่านระยะเฉียบพลันแล้ว  อาการปวดน้อยลง และยุบบวมแล้วก็ให้ค่อย ๆ เริ่มบริหารกล้ามเนื้อได้ อาจใช้ยารับประทานในกลุ่มต้านการอักเสบ หรือใช้ในรูปของยาทา ในบางรายที่ปวดมาก ๆ อาจต้องมีการฉีดยาสเตียรอยด์ลดการอักเสบเฉพาะที่ และถ้ามีการบาดเจ็บซ้ำซากหรือเรื้อรังก็อาจจะต้องถึงขั้นผ่าตัดรักษา

การรักษาให้หายจำเป็นต้องพักรับประทานยา  และระหว่างรักษาต้องไม่ทำให้มีการบาดเจ็บซ้ำซ้อนเพิ่มขึ้น  มีนักกีฬาหลายท่านที่จำเป็นต้องซ้อมหรือแข่งขันทั้ง ๆ ที่ยังไม่หายดี ถ้าอาการไม่มากก็อาจจะใส่สายรัดพยุงรัดใต้ข้อศอกช่วยป้องกันไม่ให้มีการดึงรั้งบริเวณที่เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบมากเกินไป เป็นการลดการบาดเจ็บซ้ำซ้อน

ป้องกันเอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ

การฟื้นฟูสมรรถภาพให้กลับมาเป็นปกติจำเป็นต้องบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อแขนท่อนล่างให้แข็งแรงจึงจะกลับมาเล่นกอล์ฟหรือเทนนิส หรือทำงานได้เหมือนเดิม ถ้าไม่บริหารหรือฟื้นฟูสมรรถภาพให้กล้ามเนื้อแข็งแรงเพียงพอจะเกิดการบาดเจ็บซ้ำได้ง่ายและมีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง

ข้อแนะนำสำหรับนักกอล์ฟและนักเทนนิส

1.ควรบริหารข้อมือ ข้อศอก ให้กล้ามเนื้อยืดเหยียดได้เต็มที่ก่อนการซ้อมหรือการเล่นทุกครั้ง

2.ควรบริหารกล้ามเนื้อแขนสม่ำเสมอทุกวัน เช่น  การบีบสปริงมืออย่างอ่อน ๆ หรือบีบลูกบอลนิ่ม ๆ การใช้ตุ้มน้ำหนักขนาดเบา ๆ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อหดตัวและยืดเหยียดตัว และหมุนข้อมือให้แข็งแรง

3.การบริหารต้องเริ่มต้นทีละน้อย ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นและสม่ำเสมอ ถ้ามีอาการผิดปกติระหว่างการบริหารต้องหยุดพัก

 

รีวิวผลลัพธ์จากการแก้อาการกล้ามเนื้ออักเสบบริเวณข้อศอก

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการWELLNESS

บริษัท กองจู คลินิก จำกัด 213/1-2 ชั้น 1 อาคาร เอส.เค.ดี.มั่นคงกรุ๊ฟถ.รัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพ 10400

บริการของเรา

Subscribe Now

Don’t miss our future updates! Get Subscribed Today!

©2019. Elements Kit. All Rights Reserved.

Scroll to Top