ศัลยกรรมลดขนาดโหนกแก้ม

     สาวๆ ชาวเอเชียส่วนใหญ่มักจะมีกระดูกที่ค่อนข้างหนา ทำให้เห็นโครงใบหน้าที่ชัดเจน น้อยคนนักที่จะมีโครงหน้าที่สมส่วน จึงหลายคนมีความกังวลกับใบหน้าตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโหนกแก้มจะเป็นจุดบนใบหน้าที่สามารถเห็นได้ชัดเจน หากมีโหนกแก้มที่สูงหรือใหญ่ชัดเจน จะทำให้รู้สึกหน้าดุหรือไม่มั่นใจ

     การผ่าตัดลดขนาดโหนกแก้มที่ยื่นออกมามากเกินไปนั้น เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีในการผ่าตัดเพื่อศัลยกรรมกระดูกโครงหน้าที่ต้องใช้เทคนิคขั้นสูงในการผ่าตัดของศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก โดยเบื้องต้นศัลยแพทย์จะวิเคราะห์ปัญหาก่อนว่าสาเหตุนั้นเกิดจากไขมันหรือเป็นปัญหาที่โครงสร้างของกระดูก เพราะในบางกรณีสามารถแก้ไขด้วยการฉีดสลายไขมันร่วมกับการผ่าตัดลดขนาดโหนกแก้มไปพร้อมกันได้ ขึ้นอยู่กับปัญหาของแต่ละบุคคล

     ในปัจจุบันการผ่าตัดลดขนาดโหนกแก้มจึงกำลังได้รับความสนใจ เพราะสามารถเปลี่ยนแปลง แก้ไข ขนาดและรูปทรงของใบหน้าให้เล็กลงและได้สัดส่วนมากยิ่งขึ้น โดยผลลัพธ์จะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เนื่องจากโครงสร้างกระดูกของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน

ปัญหาโหนกแก้มมี 5 ประเภท

  1. โหนกแก้มสูงและยื่นไปทางด้านหน้า
  2. โหนกแก้มสูงและยื่นไปทางด้านข้าง
  3. โหนกแก้มสูงและแหลมแต่ฐานไม่กว้าง
  4. โหนกแก้มสูงและใหญ่กว้าง ด้านหน้าและด้านข้าง
  5. โหนกแก้มยื่นออกไปทางด้านข้าง


การศัลยกรรมลดขนาดโหนกแก้ม มี 2 วิธี

  • การกรอโหนกแก้ม เหมาะกับคนที่มีโหนกแก้มไม่สูงมาก และโหนกแก้มทั้งสองข้างมีความต่างกันไม่มาก เป็นการผ่าตัดภายในช่องปาก แผลจะอยู่ภายในปาก และศัลยแพทย์จะใช้เครื่องมือเฉพาะในการกรอกระดูก วิธีนี้ทำให้ไม่มีแผลอยู่บนใบหน้าเลย
  • การตัดหรือยุบโหนกแก้ม เหมาะกับคนที่มีโหนกแก้มทั้งสองข้างสูง ยื่นออกมาด้านหน้าและด้านข้างไม่เท่ากันอย่างชัดเจน มีแผลซ่อนอยู่ในไรผมเหนือใบหู วิธีนี้จะมีขั้นตอนในการผ่าตัดซับซ้อนกว่าแบบแรก เพราะต้องตัดกระดูกหลายจุด หรือศัลยแพทย์สามารถเลือกเทคนิคที่จะเปิดแผลด้านในปากได้เช่นกัน

     โดยส่วนใหญ่จะนิยมศัลยกรรมลดขนาดโหนกแก้มร่วมกับลดขนาดของกรามด้วย เพื่อให้รูปหน้าโดยรวมได้สัดส่วน หน้าจะดูหวาน ละมุนมากยิ่งขึ้น และด้วยเทคนิคเฉพาะของศัลยแพทย์ จะช่วยลดปัญหาผิวหนังหย่อนคล้อยหลังผ่าตัดได้อีกด้วย

ศัลยกรรมลดขนาดกราม (Jaw Reduction)
     ปัญหาโครงสร้างใบหน้าส่วนล่างเป็นอีกปัญหาหนึ่งของคนเอเชีย ที่มีลักษณะกว้าง กรามใหญ่ กรามเหลี่ยม ทำให้ใบหน้าโดยรวมดูแข็ง ไม่อ่อนหวาน ซึ่งบริเวณดังกล่าวจะประกอบไปด้วย มุมกระดูกขากรรไกรล่างที่ยื่นออกมา กล้ามเนื้อบริเวณกรามที่ใช้เคี้ยวอาหาร และไขมันที่สะสมอยู่ ซึ่งศัลยแพทย์จะเป็นผู้ประเมิณว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากสาเหตุใด หากเป็นที่กล้ามเนื้อสามารถฉีดโบท็อกซ์เพื่อลดขนาดกรามได้ หรือถ้าเป็นที่ไขมันก็จะแก้ไขด้วยการดูดไขมัน แต่ถ้าหากเป็นที่กระดูกโครงหน้าส่วนล่างหรือกระดูกกรามนั้นก็สามารถแก้ไขด้วยการศัลยกรรมลดขนาดกระดูกบริเวณกรามได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัญหาของแต่ละบุคคล ในบางกรณีอาจจะต้องทำร่วมกันทั้งดูดไขมันร่วมกับตัดกราม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดที่สุด

ศัลยกรรมผ่าตัดลดขนาดกรามเหมาะกับใคร

  • ผู้ที่มีใบหน้าทั้งสองข้างไม่เท่ากัน
  • ผู้ที่มีกระดูกกรามใหญ่ เมื่อมองจากด้านข้าง
  • ผู้ที่มีกระดูกมุมกรามใต้หูชัดเจน เมื่อมองจากด้านหน้า
  • ผู้ที่มีขากรรไกรล่างกว้าง หรือหน้าเป็นเหลี่ยมชัดเจน

การศัลยกรรมลดขนาดกรามมี 2 เทคนิค
     1.ผ่าตัดภายในช่องปาก เทคนิคนี้จะเหมาะกับการตัดบริเวณมุมกราม หรือเรียกว่า V-line ให้เล็กลงและเรียวมากขึ้น ศัลยแพทย์จะต้องมีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมากเพราะเป็นการผ่าตัดที่มีพื้นที่แคบเป็นพิเศษ จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เครื่องมือที่ใช้จะต้องมีขนาดเล็กและมีประสิทธิภาพสูง ซึ่งการทำเทคนิคนี้มีข้อดีตรงที่จะไม่มีแผลอยู่บนใบหน้าเลยเพราะเป็นการซ่อนแผลภายในช่องปาก ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องแผลเป็นนูน และสามารถหลีกเลี่ยงเส้นประสาทได้ดี แต่จะมีข้อเสียในเรื่องอาการบวมในช่วงแรกจะค่อนข้างบวมมาก และแผลจะหายช้ากว่าเทคนิคแผลด้านนอน

     2.แผลด้านนอกอยู่บริเวณมุมกรามด้านข้าง หากมีปัญหากระดูกกรามใหญ่มากๆจะไม่สามารถทำการผ่าตัดภายในช่องปากได้ เทคนิคนี้สามารถตัดกระดูกกรามออกและกรอมุมกรามให้ได้สัดส่วนเข้ากับโครงหน้าได้เป็นอย่างดี ในการผ่าตัดจะใช้ระยะเวลาน้อยกว่าแบบแผลด้านในข่องปาก และอาการบวมจะน้อยกว่า แต่จะมีข้อเสียที่เสี่ยงต่อการเกิดรอยแผลเป็นนูนได้ หรือระหว่างการผ่าตัดก็เสี่ยงไปโดนเส้นประสาทได้ง่าย จึงไม่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน

การดูแลหลังทำศัลยกรรมลดขนาดโหนกแก้มและตัดกราม

  • ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังทำสามารถเกิดอาการบวมช้ำได้ หรืออาจมีอาการตึง ชาและปวดบริเวณใบหน้าส่วนกลางและส่วนล่างได้เป็นปกติ จะค่อยๆดีขึ้นใน 4 สัปดาห์ และเข้าที่ประมาณ 3 เดือน
  • งดแปรงฟันในช่วง 3 วันแรก แนะนำให้บ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่ไม่ผสมแอลกอฮอล์ หรือถ้าหากแปรงฟังแนะนำให้แปรงเบาๆด้วยความระมัดระวังไม่ให้โดนแผล
  • รับประทานอาหารอ่อน หลีกเลี่ยงการใช้แรงในการเคี้ยวในช่วง 1 เดือนแรก
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหมักดอง อาหารทะเล เพราะอาจทำให้คันบริเวณแผลได้ และอาหารที่มีรสเค็มจัดหรือโซเดียมสูง เพราะอาจทำให้บวมบริเวณแผลที่ผ่าตัดได้
  • รับประทานยาตามที่ศัลยแพทย์สั่งให้ครบ
  • ประคบเย็น 7 วันแรก และหลังจากนั้นให้เปลี่ยนเป็นประคบอุ่นแทนหากยังมีอาการช้ำอยู่
  • นอนหมอนสูงโดยให้หัวสูงกว่าหัวใจ
  • งดออกกำลังกายในช่วง 1 เดือนหลังผ่าตัด
  • งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 1 เดือนหลังผ่าตัด
Scroll to Top