ปลอกหุ้มเส้นเอ็นข้อมืออักเสบ

โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ (De quervain’s Tenosynovitis)
     เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเอ็นและเส้นเอ็นบริเวณข้อมือด้านหลังทางฝั่งนิ้วโป้ง ทำให้เกิดการตีบหรือหดตัวการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นภายในโดยส่วนใหญ่สาเหตุของอาการเกิดจากความเสื่อมสภาพจากอายุที่มากขึ้นหรือจากการใช้งาน ผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว โรคข้ออักเสบเรื้อรังหรือ โรครูมาตอยด์ เป็นการอักเสบและเกิดการตีบแคบของเอ็นหุ้มข้อที่ทำหน้าที่เหยียดข้อมือ (Wrist extensors) ซึ่งอยู่บริเวณตำแหน่งปุ่มกระดูกเรเดียล (Radial styloid) ของข้อมือ พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เกิดจากการใช้มือและข้อมือข้างที่เป็นมากหรือเกินกำลังบ่อยๆ โดยเฉพาะในท่านิ้วหัวแม่มือกางออก (Abduction หรือ Extensor) ร่วมกับมีการเคลื่อนของข้อมือไปทางด้านหัวแม่มือ (Ulnar หรือ Radial) เช่น ซักผ้า บิดผ้า ขัดถูก เป็นต้น

     นอกจากนี้อาจพบโรคนี้ในหญิงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดที่ต้องใช้ข้อมือมากๆ เช่น อุ้มเด็ก ถือของ เป็นต้นข้อมือที่ใช้งานมาก ทำให้เอ็นหุ้มข้ออักเสบและหนาตัวขึ้น เมื่อขยับมือ หัวแม่มือ กางหรือกระดกหัวแม่มือ จะมีอาการของเอ็นอักเสบที่ข้อมือ

  • เจ็บเมื่อมีการเคลื่อนไหวนิ้วหัวแม่มือ โดยเฉพาะเมื่อขยับนิ้วโป้งมาที่กลางผ่ามือ
  • เจ็บเมื่อกดบริเวณเอ็น ใต้รอยต่อข้อมือ ถัดจากโคนนิ้วโป้งลงมา
  • มีการอักเสบของเอ็น หากคลำพบว่ามีผิวหนังร้อน หรือก้อนที่บริเวณข้อมือ
  • กล้ามเนื้อที่ยึดต่อกับเอ็นนั้น อาจมีอาการเกร็ง แข็ง หรืออาจมีการอักเสบ

การรักษา
     ระยะเริ่มต้น ควรพักข้อมือข้างที่เป็น ใช้ยาระงับการอักเสบ อาจใช้การรักษาทางกายภาพบำบัดช่วย โดยใช้ความร้อน ถ้าเป็นมาหลายครั้งเป็น ๆ หาย ๆ หรือใช้ยารับประทานแล้วไม่ได้ผล อาจใช้สเตอรอยด์ฉีดเข้าปลอกเอ็นเพื่อลดการอักเสบ และถ้าฉีดยาแล้วยังไม่ทุเลา ก็จำเป็นต้องผ่าตัด วิธีผ่าตัด คือ ตัดขยายปลอกเอ็นเพื่อลดการกดและเสียดสีลง การผ่าตัดบริเวณนี้ต้องระวังเส้นประสาทที่จะทอดผ่านบริเวณแผลที่ผ่าตัด ถ้าเส้นประสาทได้รับบาดเจ็บอาจมีอาการชาหรือปวดบริเวณข้อมือ

ท่าบริหาร โรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ

  1. แตะปลายนิ้วโป้งกับปลายนิ้วก้อย ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง
  2. ดัดข้อมืองอลงให้มากที่สุด ค้างไว้ 5 วินาทีสลับกับ ดัดข้อมือกระดกขึ้นให้มากที่สุดค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 10 ครั้ง
  3. หงายมือ กำมือ แล้วค่อยๆกระดกข้อมือขึ้น ค้างไว้ 5 วินาทีแล้วค่อยกลับไปตำแหน่งเดิม ทำซ้ำ 10 ครั้ง
  4. คว่ำมือ กระดกมือ ขึ้น-ลง สลับกัน 10 ครั้ง
  5. กระดกข้อมือเอียงไปทางด้านข้าง ขึ้น-ลง สลับกัน 10 ครั้ง
  6. บีบวัตถุ เช่น ลูกบอลเล็กๆ ดินน้ำมัน บีบให้แน่นที่สุดค้างไว้ 10 วินาที สลับกับคลายออก ทำซ้ำ 10 ครั้ง
  7. ใช้ยางยืดวงใหญ่ใส่ที่รอบนอกของนิ้วมือ กาง-หุบนิ้วมือต้านแรงยางยืด ทำซ้ำ 10 ครั้ง

การรักษาทางกายภาพบำบัด
     การรักษาจะเน้นให้ผู้ป่วยลดการเคลื่อนไหวของนิ้วโป้ง โดยการใส่เฝือกอ่อน หรือติดเทปบริเวณเส้นเอ็นนิ้วโป้ง และเน้นเรื่องการลดปวด โดยใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด เช่น Ultrasound , เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (Electrical Stimulation) ,ประคบร้อน เป็นต้น หรือให้ผู้ป่วยใช้วิธีการลดปวดเองที่บ้าน โดยการเอามือแช่น้ำอุ่นไว้ประมาณ 10 – 15 นาทีต่อครั้ง

Scroll to Top