นิ้วล็อค

นิ้วล็อค (Trigger Finger) คืออะไร??
     นิ้วล็อค (Trigger Finger) หมายถึง การที่ข้อนิ้วมีอาการปวด หรือนิ้วล็อค อยู่ในท่างอเหยียดนิ้วออกเองไม่ได้ในขณะที่มีการเคลื่อนไหวข้อนิ้ว เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทั่วไปที่ต้องใช้มือจับสิ่งของ หรืออุปกรณ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่องบ่อยๆ โรคนี้ไม่มีอันตรายใดๆ เพียงแต่ให้ความรู้สึกเจ็บปวด และใช้มือได้ไม่ถนัด เป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาให้หายได้

อาการของโรคนี้แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
     ระยะที่ 1 : มีอาการปวดเป็นอาการหลัก โดยจะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ และจะมีอาการปวดมากขึ้น ถ้าเอานิ้วกดบริเวณฐานนิ้วมือด้านหน้า แต่ยังไม่มีอาการติดสะดุด

     ระยะที่ 2 : มีอาการสะดุด (triggering) เป็นอาการหลัก และอาการปวดก็มักจะเพิ่มมากขึ้นด้วย เวลาขยับนิ้ว งอ และเหยียดนิ้ว จะมีการสะดุดจนรู้สึกได้

     ระยะที่ 3 : มีอาการติดล็อคเป็นอาการหลัก โดยเมื่องอนิ้วลงไปแล้ว จะติดล็อคจนไม่สามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ ต้องเอามืออีกข้างมาช่วยเหยียด หรืออาจมีอาการมากขึ้นจนไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง

     ระยะที่ 4 : มีการอักเสบบวมมาก จนนิ้วติดอยู่ในท่างอ ไม่สามารถเหยียดให้ตรงได้ ถึงแม้ว่าจะให้มืออีกข้างนึงมาช่วยเหยียดก็ตาม

การรักษานิ้วล็อคแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
     วิธีที่ 1 การรักษาโดยการฉีดยา
การรักษานิ้วล็อค ในผู้ป่วยที่เป็นตั้งแต่ระดับที่ 1 – 3 จะแนะนำให้ฉีดยา สเตียรอยด์เฉพาะที่บริเวณโคนนิ้วมือ จะได้ผลดี และหายกว่าร้อยละ 60 ขึ้นไป ในรายงานบางแห่งได้ผลดีและหายถึงกว่าร้อยละ 70 ส่วนที่เหลือ ร้อยละ 30 – 40 อาการล็อคจะกลับมาเป็นอีกได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค และการใช้งานนิ้วมือ ในกลุ่มที่กลับมาเป็นใหม่นี้ จะให้มีการฉีดยาสเตียรอยด์ซ้ำได้ 2 – 3 ครั้ง แต่โอกาสที่จะดีขึ้น และหายจะมีน้อยลง แพทย์ออร์โธปิดิกส์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดรักษาจะดีกว่า เพราะการฉีดยาสเตียรอยด์เฉพาะที่ซ้ำ ๆ หลายครั้งจะไม่ทำให้อาการดีขึ้น และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเอ็นขาดได้

     วิธีที่ 2 การรักษาโดยการผ่าตัด จะแบ่งออกได้เป็น 2 วิธี
การผ่าตัดแบบเปิด เป็นวิธีมาตรฐาน โดยฉีดยาชาเฉพาะที่มีแผลผ่าตัด เพื่อกรีดผ่าปลอกหุ้มเอ็น เสร็จแล้วกลับบ้านได้ แต่หลังผ่าตัดต้องหลีกเลียงการใช้งานหนักและการสัมผัสแผล ประมาณ 2 สัปดาห์

     การผ่าตัดแบบปิด โดยการใช้เข็มเขี่ยหรือสะกิดปลอกหุ้มเอ็นออกผ่านผิวหนังแทบไม่มีแผลให้เห็น แต่อาจมีอันตรายต่อเส้นเอ็นและเส้นประสาทที่อยู่บริเวณข้างเคียงทำให้เกิดอาการปวดแผลเวลาขยับนิ้วมือ ข้อนิ้วติดแข็ง มีอาการชาปลายนิ้ว

     การใช้เครื่องมือพิเศษ (A-knife) นวัตกรรมใหม่โดยการรักษาโดยการเจาะผ่านผิวหนัง (Percutaneous Trigger Finger release with A-knife) A-knife หรือมีดผ่าตัดนิ้วล็อคแบบเจาะผิวหนัง เป็นนวัตกรรมใหม่ของเครื่องมือช่วยการผ่าตัดโรคนิ้วล็อค เป็นมีดที่มีลักษณะปลายเล็กขนาดปลายประมาณ 2 มิลลิเมตร ลักษณะพิเศษของมีด คือปลายจะมนทำให้ไม่เกิดการบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือนต่ออวัยวะส่วนอื่น ที่จากเดิมการผ่าตัดแบบเปิดต้องผ่ากรีดผิวหนังประมาณ 1.5 เซนติเมตร และใช้มีดตัดปลอกหุ้มเอ็นซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคนิ้วล็อค

ข้อดีของของการผ่าตัดนิ้วล็อคแบบเจาะผ่านผิวหนัง (Percutaneous Trigger Finger Knife)
แผลเจาะขนาดเล็ก (ประมาณ 2-3 มิลลิเมตร)

  1. ไม่ต้องเย็บแผล
  2. ไม่ต้องตัดไหม
  3. ไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บของเส้นเอ็นโดยรอบ
  4. มือที่ผ่าตัดสามารถใช้งานได้ทันที
  5. ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ
  6. ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล
  7. ลดอาการปวดจากแผลผ่าตัด
  8. ลดเวลาการกินยาแก้ปวดและยาฆ่าเชื้อ  

 

Scroll to Top